Wednesday, January 9, 2013

การทำสีผลิตภัณฑ์ Workshop before Painting.



WORKSHOP BEFORE PAINTING






การทำสีสันให้กับไม้เก่าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายเช่น แผ่นไม้ กล่องใส่ของ ตู้ยา ชั้นวางฯลฯ  มีขั้นตอนที่น่าสนุกไม่แพ้การวาดภาพ  อีกทั้งยังเลือกสีที่ชอบใจได้ก่อนจะวาดภาพลงไปบนชิ้นงาน  นำเสนอภาพวาดดอกไม้นานาชนิด ผลไม้ ผัก แมลง ปลา ประภาคาร ฯลฯ  ลงบนชิ้นงานไม้เก่าแปรรูปหลากสีสัน อันเป็นเอกลักษณ์ของชบาฉายที่ดึงดูดมิตรทั้งหลายมาพบกับเราซึ่งปรารถนาจะบอกเล่าประสบการณ์แก่ทุกคนที่เดินเข้ามาได้เรียนรู้และเข้าใจ สามารถนำกลับไปทำเองได้จริง  และการทำสีให้กับไม้เก่าแปรรูปก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าของเราที่อยากจะบอกว่าไม่ยากเลยที่จะลงมือลงแรงด้วยตัวเอง  


สีมีบทบาทหน้าที่อย่างไรต่อผลิตภัณฑ์

1.เพื่อปรับปรุงปกปิดร่องรอยพื้นผิวเดิมที่มีสีอยู่แล้ว หรืออาจเป็นรอยตะปู รูผุเล็กๆจากกาลเวลา การทำสีจึงคล้ายกับแต่งตัวชุบชีวิตให้ไม้เก่ามีโฉมใหม่สดใสกว่าเดิม

2.เพื่อสร้างบรรยากาศให้กับภาพวาดเช่น ภาพดอกกุหลาบสีชมพูบางๆ ผลิกลีบบนเก้าอี้สีขาว   และภาพดอกกุหลาบช่อเดียวกันแต่อยู่บนเก้าอี้สีน้ำเงินเข้ม   ลองหลับตานึกภาพจะรู้สึกถึงความแตกต่างของอารมณ์และบุคลิกที่แสดงผ่านการเลือกใช้สี

3.ทำหน้าที่เป็นส่วนส่งเสริม เอื้อเฟื้อ ให้แก่ภาพวาดให้สวยงามสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเลือกสีใดมาใช้และสีสันจะสดแจ่มเพียงไรก็ต้องลดความแรงลง  เพื่อให้ภาพวาดได้อวดโฉมอย่างเต็มที่


          




                  การกำหนดแผนงานก่อนลงมือทำ  






                     


      

การกำหนดแผนงานก่อนลงมือทำ                                                                                                                 เราต้องเลือกว่าจะวาดภาพอะไร สีไหนลงในผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นด้วยการดูและเลือกจากสมุดภาพที่ชบาฉายเปิดสอน  เช่นดอกชบาสีแดง ดอกลั่นทมสีขาว ดอกกุหลาบสีชมพู ฯลฯต่อจากนั้นเราก็เลือกผลิตภัณฑ์ที่ชอบไม่ว่าจะเป็นกล่องใส่ของ แผ่นไม้  ตู้ยา  เก้าอี้     ตามจำนวนที่จัดไว้ให้  และถามใจตัวเองว่าชอบสีอะไรบ้างที่อยากจะใช้แปลงโฉมตัวผลิตภัณฑ์ของเราเอง โดยเริ่มจากสีที่ชอบบวกเข้ากับภาพที่เลือกวาดแล้วจินตนาการถึงผลสำเร็จว่าสวยถูกใจหรือไม่และที่สำคัญคือสีของผลิตภัณฑ์ต้องมีบทบาทหน้าที่ดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น 



รูปแบบการทำสีให้กับไม้เก่า

1.สีเรียบสีเดียว

      



2.สีเรียบหลายสีสลับช่อง                                                                   

                                     

       









 3.สีขัดถลอกสีเดียว





4.สีขัดถลอกหลายสีสลับช่อง                                                           


























                                    





วัสดุอุปกรณ์




1.ผลิตภัณฑ์ไม้เก่า(แผ่นไม้,กล่อง,ตู้ยา,เก้าอี้ฯลฯ)             2.เคมีโป๊ว(wall putty)
3.กระดาษทรายไม้เบอร์หยาบ(เบอร์ 4,5)                          4.เกรียงโป๊วขนาด2นิ้ว
5.ถุงมือ,ผ้าปิดจมูก                                                            6.สีน้ำพลาสติกเฉดสีต่างๆที่ต้องการ
7.พู่กันแปรงขนนุ่มขนาด 2,4นิ้ว เลือกคุณภาพของขนไม่หลุดง่ายและราคาปานกลาง
8.ภาชนะสำหรับแบ่งถ่ายผสมสี เช่นแก้วน้ำพลาสติก และถังสำหรับใส่น้ำสะอาด
9.ผ้าเช็ดสีอาจเป็นเสื้อตัวเก่าหรือผ้าขนหนูผืนเก่าจะซับน้ำได้ดี
10.น้ำยาเคมีเคลือบผิวงานสูตรน้ำชนิดทา มีหลายยี่ห้อที่คุณภาพกับราคาใกล้เคียงกัน 





ขั้นตอนการทาสีแบบเรียบสีเดียว และหลายสีสลับช่อง
เตรียมพื้นผิวก่อนทาสี
สำรวจดูผิวหน้าของชิ้นงานว่ามีตำหนิ,รอยตะปู,รอยผุหรือไม่ ถ้ามีให้จัดการซ่อมแซมด้วยเคมีโป๊ว(wall putty) โดยใช้เกรียงขนาด2นิ้วเป็นตัวช่วยนำเนื้อครีมอุดลงในร่องรอยทดแทนเนื้อไม้ที่หายไป ปาดส่วนเกินจากร่องตำหนิออกให้เรียบอย่าให้เปรอะอยู่บนผิวหน้างานเพราะเมื่อเคมีแห้งจะแข็งขรุขระไม่งาม จากนั้นปล่อยทิ้งไว้รอแห้งสนิทหลังจากนั้นนำมาขัดผิวหน้างานรวมทั้งรอยโป๊วให้เรียบเนียนมือ ด้วยกระดาษทรายเบอร์หยาบโดยควบคุมทิศทางขัดไปในแนวทางเดียวกับแนวเสี้ยนไม้
ขั้นตอนการทาสี
นำสีน้ำพลาสติกสีที่ต้องการตักแบ่งใส่ภาชนะ   เติมน้ำเล็กน้อยเพื่อคลายความหนืดข้นของสีและใช้ไม้พายจิ๋วกวนให้สีกับน้ำสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าทำสีเรียบหลายสีสลับช่องก็เตรียมสีผสมกับน้ำให้ครบตามต้องการ   จากนั้นเตรียมพู่กันแปรงสีละหนึ่งด้าม เพราะสะดวกในการใช้และสีจะสะอาดกว่าการใช้พู่กันด้ามเดียวจุ่มสีหลายสี นำพู่กันจุ่มสีจากภาชนะโดยแต่งเนื้อสีในพู่กันให้เหมาะสมไม่เหลวหรือข้นมากเกินไป ด้วยการรีดขนพู่กันกับขอบภาชนะทั้งซ้ายขวาหน้าหลังของแปรงก่อนนำไปทาบทาลงบนผิวหน้างาน       ลากแปรงไปตามทิศทางเดียวกับเสี้ยนไม้  ควบคุมมือให้นิ่งแต่ผ่อนคลายทาให้ทั่วทั้งชิ้นงานในกรณีที่ทาสีเรียบสีเดียว  สำหรับการทาสีหลายสีสลับช่องก็เช่นกันและควรมีพู่กันแปรงสำหรับสีน้ำมันของสง่า มยุระเบอร์2,4 เอาไว้เก็บรายละเอียดเล็กๆ ช่วงรอยต่อของสีแต่ละสี เพราะผู้หัดใหม่จะยังไม่ชำนาญในการใช้พู่กัน แต่เชื่อเถอะว่าการทำบ่อยๆจะชำนาญขึ้นเอง  เมื่อทาจนทั่วดีแล้วนำไปผึ่งลมรอแห้ง  และทาซ้ำด้วยสีและวิธีการเดิมอีก2รอบ หรือจนกว่าสีจะเรียบเต็ม
               Tips ยางไม้ซึมออกมาเป็นคราบสีออกเหลืองๆ  วิธีแก้คือปล่อยให้แห้งไปพร้อมกับสีที่ทาก่อน จากนั้นนำมาพ่นทับเน้นส่วนที่ยางซึมออกมาเป็นพิเศษด้วยเคลียร์ สเปรย์ ชนิดด้านและรอแห้งอีกครั้ง  จึงนำกลับไปทาสีต่อตามขั้นตอนข้างต้น
เมื่อทาสีเสร็จสรรพและแห้งสนิทดี นำมาทาเคลือบด้วยเคมีรักษาผิวหน้าของสีเป็นการ

เมื่อทาสีเสร็จสรรพและแห้งสนิทดี นำมาทาเคลือบด้วยเคมีรักษาผิวหน้าของสีเป็นการผนึกและคุ้มครองสีให้ไม่สกปรกได้ง่าย โดยใช้โรเทนเบริกสูตรน้ำชนิดด้าน 1 รอบและปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปวาดภาพในขั้นต่อไป

ขั้นตอนการทาสีด้วยเทคนิคขัดถลอกแบบต่างๆ

การทำสีขัดถลอกเป็นการสร้างบรรยากาศให้กับชิ้นงาน     ให้ดูมีร่องรอยคล้ายกับผ่านกาลเวลา  จริงๆแล้วเทคนิคนี้เกิดขึ้นจากวัตถุดิบที่ชบาฉายนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นั้นมาจากฝาบ้านของผู้คนมากมายที่นิยมสร้างบ้านด้วยวัสดุอื่นๆ ทดแทนการใช้ไม้แผ่นทาสีน้ำมันสีสวยๆ  และไม้แต่ละแผ่นล้วนมีเรื่องราวของเขาเอง สีหลุดร่อนบ้าง บางแผ่นก็มีการทาสีใหม่ทับสีเก่าและถลอกให้เห็นสีที่ซ้อนทับกัน มีร่องรอยผุเก่าที่กาลเวลามอบให้ซึ่งกลับกลายเป็นเสน่ห์แรกที่ดึงดูดให้เราทำอะไรสักอย่างที่ยังจะคงลักษณะผิวเดิมของไม้เก่าไว้และยังมีคุณค่าต่อผู้อื่น จึงเป็นที่มาของภาพวาดจำลองความงดงามจากดอกไม้ใบหญ้าพฤกษานานาพันธุ์ และสารพัดชีวิตเล็กๆอย่างแมลง  รวมถึงสรรพชีวิตจากท้องทะเล  ที่ถ่ายทอดลงสู่แผ่นไม้เก่าแทนการวาดภาพลงแคนวาสขึงกรอบไม้แบบเดิมๆ

แต่เราจะหาไม้ให้ได้สีและรอยเก่าเช่นเดิมไม่ได้ทุกครั้ง ที่ทำได้ก็เพียงการจำลองอารมณ์และความรู้สึกให้คล้ายคลึงด้วยการใช้สีทาลงแผ่นไม้ที่ยังไม่ได้ขัดเสี้ยนทิ้ง ซึ่งมีผิวสัมผัสที่หยาบขรุขระเป็นร่องริ้วเล็กๆลึกบ้างตื้นบ้าง สีที่ทาลงไปจึงซึมลงอุดในร่องรอยเหล่านั้นและใช้กระดาษทรายเป็นตัวสร้างร่องรอยถลอกโชว์เสี้ยนไม้  และสีน้ำพลาสติกเป็นตัวเลือกที่นำมาสอนแทนการใช้สีพ่นอุตสาหกรรมหรือสีน้ำมันที่มีคุณสมบัติมันวาวสีสดใหม่ทนทาน  แต่มีกลิ่นเคมีรุนแรงเพราะใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลายให้สีคลายความหนืดจึงทาได้   สำหรับผู้ฝึกใหม่ควรเริ่มต้นจากสีน้ำพลาสติกที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลายไม่มีกลิ่นฉุน  แต่เมื่อแห้งสนิทผลที่ได้จะมีลักษณะผิวเป็นฝุ่นด้านๆไม่มันวาวและสดใหม่เช่นสีพ่นอุตสาหกรรม  จึงต้องมีการเพิ่มขั้นตอนการทาเคลือบด้วยเคมีปกป้องผิวหน้างาน  เพื่อผนึกสีให้ยึดเกาะกับเนื้อไม้ได้ดีทนทานยิ่งขึ้นก่อนนำไปใช้งาน



ขั้นตอนการทำสีขัดถลอกโชว์เสี้ยนไม้แบบต่างๆ

1.สีขัดถลอกแบบสีเดียว (โชว์เสี้ยนไม้)

นำชิ้นงานมาสำรวจผิวว่ามีส่วนใดชำรุดมีรอยผุสึกหรือไม่ ถ้ามีก็ให้จัดการอุดโป๊วเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ใช้กับสีเรียบยกเว้นการขัดเนียน  เนื่องจากเราต้องการเสี้ยนไม้ไว้ขัดพร้อมๆกับสีจึงยังไม่ต้องขัดใดๆทั้งสิ้น

เลือกสีที่ชอบมา1สีตักถ่ายใส่ภาชนะผสมสี เติมน้ำลงไปทีละน้อยเพื่อให้สีคลายความหนืดและใช้ไม้พายจิ๋วคนให้น้ำกับสีสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน  จากนั้นใช้พู่กันแปรงขนาดเหมาะสมกับพื้นที่จุ่มสีในภาชนะ (ใช้วิธีการรีดแต่งสีแบบเดียวกับทาสีเรียบ) ทาสีลงไปบนชิ้นงานให้ทั่วพื้นที่กำหนดตามต้องการ  แล้วนำไปผึ่งรอแห้งก่อนนำกลับมาทาซ้ำอีกสักรอบ

2.สีขัดถลอกแบบหลายสีสลับช่อง  (โชว์เสี้ยนไม้)

                  นำชิ้นงานมาสำรวจร่องรอยตำหนิและอุดโป๊ว(เช่นเดียวกับการเตรียมผิวแบบอื่นๆ) และเว้นขั้นตอนการขัดเอาไว้ก่อน                                


                                                                                                                               

Tips ถ้าชิ้นงานของเราเป็นแผ่นไม้เรียงช่องอยู่แล้วจะทำงานได้ง่าย  แต่สำหรับชิ้นงานที่เป็นกล่อง ตู้ยา  เก้าอี้  การประกอบชิ้นไม้จะมีรายละเอียดมากกว่าจึงต้องวางแผนการทาสีหลายสีให้ลงตัวเสียก่อนว่าจะให้สีอะไรอยู่ส่วนไหน 






เตรียมสีตามจำนวนสีที่ต้องใช้ใส่ภาชนะและเติมน้ำ (วิธีเดียวกับการเตรียมสีของเทคนิคอื่นๆดังที่กล่าวไปแล้ว)  และเตรียมพู่กันแปรงให้ครบตามจำนวนสีเพื่อความสะอาด,สะดวกในการใช้งาน  จากนั้นก็ลงมือทาไปทีละสีโดยควบคุมส่วนรอยต่อของสีให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนด  จนครบทั้งชิ้นงาน  จึงนำไปผึ่งลมรอแห้งสนิท  และนำกลับมาทาซ้ำอีกสักรอบด้วยสี และวิธีการเดิม





3.สีขัดถลอกแบบ 2 สีซ้อนกัน(โชว์เสี้ยนไม้)

 สำรวจผิวหน้างานและซ่อมแซมด้วยเทคนิกวิธีการเดียวกันกับการเตรียมผิวแบบอื่นๆข้างต้น  สำหรับการทำสีซ้อนนี้เราก็ต้องวางแผนเช่นกันในการเลือกคู่สีที่จะนำมาซ้อนกันโดยกำหนดสีอ่อน 1 สี และสีเข้ม 1 สี  หรือ ใช้สีสด 1 สีกับสีหม่น 1 สีก็ได้  หรือเลือกจากความชอบของตนเป็นหลักดีที่สุด

                  เมื่อเลือกคู่สีได้แล้วก็เตรียมสีและพู่กันแปรงให้พร้อม(ใช้วิธีการเดียวกันกับการเตรียมสีของเทคนิกอื่นๆ)  จากนั้นลงมือทาสีแรก(สีใดก่อนก็ได้)ให้ทั่วทั้งชิ้นงานและนำไปผึ่งรอแห้งสนิทก่อนจึงนำกลับมาทาสีที่ 2 ทับสีแรกให้ทั่วทั้งชิ้นงานเช่นกันและผึ่งรอแห้งอีกครั้ง

ขั้นตอนการขัด

การขัดสำหรับสีเดียวและแบบหลายสีสลับช่องและแบบสีซ้อน 

                 ขั้นตอนนี้อาจอธิบายด้วยภาษาไม่ดีเท่าการทดลองทำและเรียนรู้ของคุณเองประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจะบอกได้ว่าเราควรต้องขัดอย่างไร แค่ไหน                             

นำกระดาษทรายเบอร์ 3,4 มาทำการขัดผิวหน้างานโดยควบคุมทิศทางไปในแนวเดียวกับเสี้ยนไม้ในส่วนที่ทำได้ การออกแรงมาก- น้อยมีผลกับร่องรอยที่เกิดขึ้น  จึงต้องขัดไปและดูไปด้วยว่าเราชอบผิวที่ถลอกประมาณไหน พอใจหรือยัง ถ้าขัดมากจะยิ่งเห็นเนื้อไม้ที่มีสีแทรกอยู่ในเสี้ยนชัดยิ่งขึ้น  สำหรับการขัดสีซ้อน 2 สีจะเกิดผลคือเห็นคู่สีที่เราทาลงไปแทรกสลับกันกับเสี้ยนไม้สีน้ำตาลอีกชั้นหนึ่ง เมื่อชอบและพอกับผลสำเร็จแล้วใช้แปรงปัดฝุ่นไม้กับฝุ่นสีออกให้หมด  เช็ดทำความสะอาดซ้ำอีกครั้งด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ ก่อนนำไปทาเคลือบด้วยโรเทนเบริก 1 รอบเพื่อรักษาผิวหน้างาน    เมื่อลองทำตามจนถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจพบว่าชอบการขัดถลอกโชว์เสี้ยนไม้มาก  หรือบางคนอาจรู้สึกต่างออกไปชมชอบการทำสีเรียบมากกว่าก็ตาม อย่างน้อยการลงมือทำทั้งแบบสีเรียบและสีขัดถลอกครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้กับใครบางคนนึกสนุกอยากแปลงโฉมของใช้หรือครื่องเรือนตัวเก่าที่บ้านดูบ้าง  สิ่งนี้ล่ะคือจุดมุ่งหมายที่ชบาฉายต้องการให้กับ”เพื่อน”ที่เดินเข้ามาเรียนรู้กับเราทุกๆคนได้รู้ เข้าใจ และทำได้จริง


 เขียนและเรียบเรียงโดย   :  Samorn Dist.  ติดตามได้ที่
 https://www.facebook.com/ArtCraftDiy?ref=stream

เครดิตภาพ จาก ชบาฉาย